เหล็กเส้นคืออะไร? เลือกใช้เหล็กเส้นแบบไหนดี?

10/07/2024
โดย พัฒนพล สิทธิโชคชัยชนะ

อยากที่ทุกคนทราบ เหล็กเส้น มีความสำคัญต่องานก่อสร้างเป็นอย่างมาก หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปคือ เหล็กเส้นก่อสร้าง บางท่านอาจเรียกเหล็กเสริม ใช้สำหรับรับแรงงานคอนกรีตเสริมเหล็กและงานก่ออิฐทั่วไป สามารถตรวจสอบราคาได้ที่นี่ ราคาเหล็กเส้น

เหล็กเส้นคืออะไร และมีประเภทใดบ้าง?

เหล็กเส้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. เหล็กเส้นกลม คือ เหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้าง หรือเรียกสั้นๆว่า RB ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.28/2529,32/2532 ชั้นคุณภาพของเหล็กประเภทนี้คือ SR24 ที่เป็นที่รู้จักและนิยมใช้คือ เหล็ก บลส. บกส. TSC และ NS

RB6 (เหล็กเส้นกลม 2 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างที่รับแรงไม่มาก นิยมใช้ทำปอกเสา และปอกคาน

RB9 (เหล็กเส้นกลม 3 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างที่รับแรงไม่มาก คล้ายกับเหล็กเส้นกลม 2 หุน

RB12 (เหล็กเส้นกลม 4 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป แต่ไม่เน้นงานยึดเกาะ เพราะเหล็กมีลักษณะเรียบมน ทำให้ยึดเกาะปูนไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนมากนิยมใช้กับงานกลึง เช่น งานกลึงหัวน๊อตต่างๆ

RB19  ใช้สำหรับงานทำถนน

RB25 ใช้ทำเป็นเหล็กสตัท เกรียวเร่ง สำหรับงานยึดโครงป้ายขนาดใหญ่สามารถรับแรง และน้ำหนักได้ดี

ข้อพิจารณาเมื่อเลือกซื้อเหล็กเส้นกลม

  • ผิวของเหล็กต้องเรียบ เกลี้ยง ไม่มีลูกคลื่น ไม่มีปีก ไม่มีรอยแตก หน้าตัดต้องกลม ไม่เบี้ยว
  • เส้นผ่าศูนย์กลางและน้ำหนักต้องถูกต้อง เช่น SR24 ขนาด 9 มม. เมื่อวัดเส้นผ่าศูนย์กลางต้องได้ 9 มม. น้ำหนักต้องได้ 0.499 กก./ 1 เมตร ความยาวทั้งเส้นตามมาตรฐานต้องยาว 10 เมตร เป็นต้น
  • เมื่อดัดโค้งงอต้องไม่ปริแตกและหักง่าย
  • เหล็กต้องไม่เป็นสนิมกินเข้าไปในเนื้อเหล็ก แต่หากเป็นสนิมบ้างบนผิวเหล็ก อาจเป็นเรื่องของสภาพอากาศของเมืองไทย ไม่ต้องกังวล

ขนาดและน้ำหนักเหล็กเส้นกลม

ชื่อขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง (มม.) พื้นที่ตัดขวาง (ตร.มม.) มวล (กก./ม.)
RB 6 6 28.30 0.222
RB 8 8 50.30 0.395
RB 9 9 63.60 0.499
RB 10 10 78.50 0.616
RB 12 12 113.10 0.888
RB 15 15 176.70 1.387
RB 19 19 283.50 2.226
RB 22 22 380.10 2.984
RB 25 25 490.90 3.853
RB 28 28 615.80 4.834
RB 34 34 907.90 7.127


2. เหล็กเส้นข้ออ้อย คือ เหล็กเส้นกลมที่มีบั้ง เพื่อเสริมกำลังยึดระหว่างเนื้อคอนกรีตกับเหล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ถึง 40 มิลลิเมตร ที่ขนาดความยาวที่ 10 และ 12 เมตร ใช้สำหรับงานก่อสร้างเสริมคอนกรีตที่ต้องการความแข็งแรง อาทิ อาคารสูง คอนโดมิเนียม ถนนคอนกรีต สะพาน เขื่อน เป็นต้น เหล็กข้ออ้อยแบ่งตามชั้นคุณภาพได้ 3 ประเภท คือ SD30, SD40, SD50 

ข้อพิจารณาเมื่อเลือกซื้อเหล็กเส้นข้ออ้อย

  • เหล็กข้ออ้อย ต้องมีผิวเรียบเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณที่เป็นบั้ง และต้องไม่ปริ ไม่แตกร้าว ไม่เป็นสนิมขุม
  • เหล็กข้ออ้อย ต้องมีบั้งเป็นระยะๆ เท่าๆกันโดยสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น บั้งที่อยู่ตรงข้ามกันต้องมีขนาดและรูปร่างเหมือนกัน

ปัจจุบันงานก่อสร้างส่วนใหญ่นิยมใช้เหล็กข้ออ้อยมากกว่าเหล็กเส้นกลม เหตุผลคือมีคุณภาพสูงกว่าทั้งแรงดึงและแรงยึดเกาะ ซึ่งสัดส่วนในการใช้ SD50, SD40 ยังมากกว่า SD30 อีกด้วย

ขนาดและน้ำหนักเหล็กเส้นข้ออ้อย

ชื่อขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง (มม.) พื้นที่ตัดขวาง (ตร.มม.) มวล (กก./ม.)
DB 10 10 78.54 0.616
DB 12 12 113.10 0.888
DB 16 16 201.06 1.578
DB 20 20 314.16 2.466
DB 22 22 380.13 2.984
DB 25 25 490.87 3.853
DB 28 28 615.75 4.834
DB 32 32 804.25 6.313
DB 36 26 1,017.88 7.990
DB 40 40 1,256.64 9.865